คำพิพากษาฎีกาที่ 7195/2539
คดีละเมิดมิใช่คดีครอบครัวที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาล หรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตา ป.พ.พ.ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11(3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ดังนั้น เมื่อมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของโจทก์บางคนซึ่งเป็นผู้เยาว์ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจ
แก้ไขข้อบกพร่อง โดยตั้งผู้แทนเฉพาะคดีให้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสุดท้าย โดยไม่จำเป็นต้องขออำนาจในการดำเนินคดีจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ว่า การที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 จำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปด เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ให้เช่ารถสามล้อเครื่องและจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของรถสามล้อเครื่อง ไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1และไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากรถสามล้อเครื่อง ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้สูงเกินไปนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2539
เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลย จำเลยในฐานะบิดาจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีสิทธิฟ้องคดีนี้เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยแทนบุตรผู้เยาว์โดยคิดย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยเพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนว่า จำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เป็นรายเดือน จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าว แม้ภายหลังที่ยื่นฟ้องแล้วโจทก์จะได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามีใหม่ แต่บุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่เกิดมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1578/28 โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540
มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่งเท่านั้น เมื่อการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่า ว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยืดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1589/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้